ก็เป็นหนังสือเล่มแรกในชีวิตที่ได้มีโอกาสเขียน
แรงบันดาลใจ คนเราเวลาจะทำอะไรก็มักจะมีแรงบันดาลใจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ ผมเองก็เช่นกัน แรงแรกได้จากนักเลี้ยงไม้กินแมลงต่างชาติชื่อว่าไมเคิ่ล มิยาชิโร่ เป็นชาวฮาวาย เคยกล่าวไว้ว่า “ไอ้รูปที่นาย post ใน board น่ะ เราว่านายน่าจะเอาไปทำเป็นหนังสือสักเล่มนะ”
แรงที่สองเป็นแรงที่ได้มาจากการเห็นหนังสือไม้กินแมลงที่ทางสำนักพิมพ์เศรษฐศิลป์ (ตามภาพที่โชว์ไว้ด้านบน) ได้ออกหนังสือ “ร้อยพรรณพฤกษา : ไม้กินแมลง” ออกมา ซึ่งเล่มนี้เป็นการรวบรวมไม้กินแมลงหลายๆ ชนิด มาไว้ในเล่มเดียวกัน เช่น หม้อข้าวหม้อแกงลิง กาบหอยแครง หยาดน้ำค้าง ซาราซีเนีย เล่มนี้มีภาพหม้อที่เราเลี้ยง เข้าไปแทรกในหนังสือด้วย ก็ยอมรับว่าดีใจ เห็นหนังสือออกมาแล้ว ก็คิดในใจบ้างว่า “อืม..เราทำบ้างได้มั้ยเนี่ย แต่ทำเฉพาะหม้อนะ” แรงที่สามก็ได้จากเพื่อนนักเลี้ยงไม้กินแมลงเมืองไทย เค้าคนนั้นคือคุณดิ๊บ นั่นเอง จริงๆ เพื่อนๆ ที่มหาลัยเรียกเค้าว่า “ดิบ” นะ แต่เราก็พยายามทำให้เท่ห์ขึ้นไปอีกหน่อย เลยเรียกว่า “ดิ๊บ” ซะงั้น วันหนึ่งระหว่างที่นั่งอยู่ในรถด้วยกันสองต่อสอง แกก็พูดขึ้นมาว่า อืม..ทำไมคุณไม่เอารูปที่คุณถ่ายๆ ไว้มาทำหนังสือล่ะ ก็นี่แหละ คือที่มาของสามแรงบันดาลใจของผม
โอกาส ก็นับเป็นสิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งในการทำให้หนังสือเสร็จลงได้ด้วยดี (แต่ยอดขายจะดีหรือไม่นั้น อันนี้ก็ไม่ทราบ แง…แง) นั่นคือผมได้มีโอกาสได้รู้จักกับท่านอาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล เจ้าของสำนักพิมพ์เศรษฐศิลป์นั่นเอง อาจารย์จะมาที่สวนจตุจักร เพื่อมาถ่ายรูปไม้ดอก ไม้ประดับเกือบทุกอาทิตย์ อยู่ดีๆ ก็บอกว่าขอถ่ายรูปหม้อที่บ้านหน่อย เราก็ตอบตกลงไป (ตอนออกหนังสือไม้กินแมลงเล่มด้านบน) วันดีคืนดีอาจารย์ก็มาถ่ายรูป แล้วก็ให้เด็กเอานามบัตรมาให้ ซึ้งมากๆ ได้มา 1,000 ใบเห็นจะได้ ป่านนี้ยังใช้ไม่หมดเลยครับ ฮ่าๆๆ วันหนึ่งเมื่อเจออาจารย์ ผมก็เลยแจ้งความประสงค์ว่าอาจารย์ครับ ผมมีภาพถ่ายหม้ออยู่จำนวนหนึ่ง ผมอยากทำหนังสือหม้อครับ แต่คิดว่าจะออกในปี 2552 นะครับ ไม่น่าเชื่อว่าอาจารย์จะตอบตกลงมาได้ ผมล่ะอึ้งกิมกี่เลยนะ ก็ผมไม่เคยเขียนหนังสือนี่ครับ ก็เลยเกิดอาการแบบที่ว่า จนกระทั่งวันเวลาผ่านไปหลายเดือน เจอกับอาจารย์อีกที อาจารย์บอกว่า ให้เอารูปที่ถ่ายไว้มาตกแต่งจัดวางรูปเล่มก่อนเลย จะได้ไม่เสียเวลา ประมาณตุลาคม 2551 ผมจึงได้ส่งรูปชุดแรกไป จุดเริ่มต้นของหนังสือเริ่มขึ้นลางๆ แล้ว
เริ่มลงมือ โฮ่ๆๆ กว่าผมจะเริ่มลงมือได้ ก็มัวแต่โอ้เอ้อยู่อย่างนั้น ว่าจะทำ ว่าจะทำ และว่าจะทำอยู่หลายครั้ง ก็ยังไม่ได้เริ่ม ภาพถ่ายที่เริ่มก็ยังไม่ครบ มกราคม 2552 จึงเริ่มวาง Contents ของหนังสือ ตาม step ที่อยู่ในหัวอยู่แล้ว หนังสือเล่มนี้ ตั้งใจอย่างมากเลย อย่างแรกคือเรื่องรูป “รูปต้องเยอะ” ใช่เลย อย่างที่สองคือการนำเสนอต้องใช้คำที่ง่ายๆ และเป็นกันเองมากที่สุด เพราะเท่าที่ผมอ่านหนังสือต้นไม้มา แม้จะไม่มาก ก็มีความรู้สึกว่าแทบทุกเล่มเลยต้องกล่าวถึงวงศ์อะไรให้วุ่นวายและวิชาการมากเลย ผมอ่านแล้วพาลจะไม่รู้เรื่อง ซึ่งที่สุดแล้วก็อ่านจบพร้อมกับความไม่รู้เรื่องนั่นแหละ อีกหนึ่งเรื่องก็คือ อาศัยว่าผมปลูกเลี้ยงจากภาคปฏิบัติจริงๆ และเรื่องทฤษฎีก็ไม่รู้เรื่องอีกต่างหาก เอาวะ..คิดได้ดังนั้นก็เลยทำจุดด้อยในเรื่องที่ไม่รู้ทฤษฏี แต่พลิกเอาภาคปฏิบัติที่ใครๆ ก็ทำได้นี่แหละ กลับมาเป็นจุดเด่นของหนังสือแทน ไม่เชื่อลองไปหาหนังสือปลูกต้นไม้แนวผมดูสิ คิดว่ามีนะแต่น้อยมาก ผมลงมือเขียนหนังสืออย่างจริงจังประมาณ ปลายๆ กุมภาพันธ์ 2552 เสร็จประมาณ ต้นๆ มีนาคม 2552 นับเป็นการเขียนที่เร่งรีบมากมาย ไม่รีบได้ไงรับปากสำนักพิมพ์ไว้ว่าจะส่งต้นฉบับปลายมกราคม 2552 นี่มันเวลาไหนแล้วล่ะครับ
หนังสือเสร็จ ภูมิใจมากๆ หนังสือเล่มนี้นั่งพิมพ์เองทั้งเล่ม แล้วค่อยเมล์ไปให้สำนักพิมพ์ แถมข้อความที่พิมพ์ก็เป็นสไตล์ของเราเองล้วนๆ ทางสำนักพิมพ์ไม่มีการแทรกแซงข้อความผมเลยแม้แต่น้อย ซึ้งอีกแล้วครับ…พี่น้องครับ รูปทั้งหมดก็ถ่ายเองทั้งเล่มอีก กว่าจะได้เล่มหนึ่งก็ 3 ปีกว่าๆ นะ จะเห็นเลยว่ารูปออกมาดูรกมากๆ แต่นี่แหละคือจุดเด่น เพราะว่าเด่นที่สุดในเรื่องภาพที่ดูรกที่สุดในโลก อย่างไรก็แล้วแต่ หนังสือเสร็จลงจนได้ ต้องขอบคุณน้องโจ พลาทร นัยพัฒน์ ที่จัด artwork ทั้งเล่ม และน้องต้น คณิต ปานทอง ได้ช่วยตรวจสอบการเขียนชื่อหม้อให้ทั้งเล่ม หนังสือดูดีขึ้นมาเยอะเลย ได้รับหนังสือวันที่ 17 มีนาคม 2552 ฮ่ะๆๆ ทำกันเร็วจริงๆ เด็กพวกนี้ เห็นแล้วนั่งยิ้มคนเดียว จริงๆ แล้วนี่คือความฝันอันสูงสุดของการเล่นหม้อของผมแล้วนะ ได้สะสม,ได้เพื่อนๆ มากมายที่มีความสนใจในสิ่งเดียวกัน,ได้ทำลูกไม้ด้วยตัวเอง,ได้ทำหนังสือ และถ้ามีอะไรที่จะดีกว่านี้ก็คงไม่ดีใจไปมากกว่านี้อีกแล้วล่ะครับ
ขอบพระคุณท่านอาจารย์เศรษฐมันต์ กาญจนกุล ที่เปิดโอกาสครั้งยิ่งใหญ่ให้ผม, น้องโจ พลาทร นัยพัฒน์ ที่เอางานมาให้ตรวจ และจัดทำรูปเล่มได้เร็วมากๆ, น้องต้น คณิต ปานทอง ช่วยตรวจสอบชื่อหม้อให้ดูดีมากๆ, แรงบันดาลใจทั้งสามอย่างของผม
ขออภัย ที่หนังสือก็ยังมีที่ผิดอยู่หลายที่ แต่ก็นะ พิมพ์ออกมาแล้วนี่นา
ตอนนี้มีขายไหม
ตอบลบ